端午节 (duān wǔ jié) เทศกาลตวนหวู่ วันตวนหวู่
ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Dragon Boat Festival
มีชื่อเรียกหลายชื่อ ชาวจีนฮากกา เรียกว่า 五月节
ตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติจีน 五月初五
ส่วนคนไทยเรียกว่า วันบ๊ะจ่าง เพราะขนมบ๊ะจ่างเป็นอาหารประจำเทศกาลนี้
...
วันตอวนหวู่ ยังเป็น "วันนักกวี"(诗人节 Shīrén jié)ของจีนด้วย
อาหาร กิจกรรม ประเพณีที่เกี่ยวข้อง
- กินขนมบ๊ะจ่าง คำว่า "บ๊ะจ่าง" มาจากคำว่า 肉粽 แปลว่า ขนมจ่างที่มีเนื้อสัตว์ ส่วนในภาษาจีนกลาง เรียกรวมๆ กันว่า จุ้งจึ 粽子 zòngzi ซึ่งจะมี "กีจ่าง" ที่ไม่ใส่เนื้อสัตว์ด้วย
- แข่งเรือมังกร(赛龙舟)
- แข่งขันความสามารถด้านกวี
และเนื่องจากช่วงเดือน 5 ตามปฏิทินจีน เป็นช่วงหน้าฝน อากาศเปียกชื้น มีเชื้อโรคระบาดและมียุงแมลงร้ายมาก ทำให้เกิดโรคต่างๆ หรือถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย ชาวจีนโบราณจึงมีประเพณีดื่มเหล้าสีเหลืองชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า "雄黄酒” เหล้าชนิดนี้ถือเป็นภูมิปัญญาจีนด้านยาจีนอย่างหนึ่ง มีส่วนผสมของ 雄黄 (a-As4S4 กำมะถันแดง) ที่มีพิษ มีฤทธิ์ต้านพิษและฆ่าเชื้อโรคได้ แต่วิธีปรุงซับซ้อน เพราะเป็นสารมีพิษ ทำไม่ดีดื่มแล้วตายได้
....
วัฒนธรรมประเพณีของวันตวนหวู่นี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางด้านวัฒนธรรมจากองค์การยูเนสโก สหประชาชาติ ตั้งแต่ปี 2009
วันเทศกาลนี้ ที่ประเทศจีน ฮ่องกง ประกาศเป็นวันหยุดราชการประจำปี
วันตวนหวู่ไม่ใช่วันเทศกาลรื่นเริง แต่เป็นวันที่ระลึกถึงความรักชาติ วันคล้ายวันครบรอบการเสียชีวิตของนักกวีรักชาติ 屈原 Qū Yuán (ชวีเยวี๋ยน) ซึ่งโดดน้ำเสียชีวิตเนื่องจากแคว้นฉู่ (楚国)ของท่านแพ้สงครามแก่ทัพแคว้นฉิน(秦国)ในสมัยสงคราม "จั้นกว๋อ"(战国)ก่อนคริสตศักราช 278 ปี นับถึงตอนนี้ก็ 2295 ปีก่อน
วันตวนหวู่ จึงไม่เหมาะที่จะอวยพรด้วยคำว่า 端午节快乐 (แฮปปี้วันตวนหวู่) แต่จะนิยมใช้คำว่า 端午节安康 / 端午节平安 แทน (อวยพรให้แข็งแรง ไม่เจ็บไม่ไข้)
เทศกาลที่ไม่ควรอวยพรด้วยคำว่า XXX快乐 ก็ได้แก่ วันเช็งเม้ง (วันเซ่นไหว้บรรพชน) วันสารทจีน (วันเซ่นไหว้เนื่องในวันที่ประตูยมโลกเปิด) และวันตวนหวู่ ซึ่งทั้ง 3 วันนี้จะเป็นวันจัดกิจกรรมรำลึกถึงบรรพบุรุษและบุคคลที่เสียชีวิตแล้ว
* การเรียนภาษาจีน ควรเข้าถึงแก่นความคิดของชาวจีนด้วย
.....
เทศกาลตวนหวู่ มีความเป็นมาอย่างไร ?
ในสมัยโบราณ 2300 ปีก่อน ในแผ่นดินจีนแบ่งเป็น 7 แคว้นใหญ่ เรียกยุคนั้นว่า 战国时代 (แปลตามเสียงคือยุคจั้นกว๋อ) ก่อนที่แคว้นฉินจะใช้อุบายและกำลังทหารกำจัดทุกแคว้นแล้วตั้งเป็นประเทศจีนขึ้น (ซึ่งผู้เขียนประวัติศาสตร์ก็จะเขียนว่า รวมประเทศจีนเป็นปึกแผ่นหรือเป็นหนึ่งเดียว)
ในสมัยนั้น แคว้นฉู่ ซึ่งเป็นแคว้นใหญ่แคว้นหนึ่ง มีขุนนางตงฉินมีความสามารถท่านหนึ่งชื่อ ชวีเยวี๋ยน มีความคิดร่วมมือกับแคว้นอีก 5 แคว้นเพื่อร่วมกันต่อต้านอิทธิพลของแคว้นฉิน แต่ถูกกังฉิน (ขุนนางไม่ดี) ที่รับสินบนได้ประโยชน์จากแคว้นฉินยุยงให้ฮ่องเต้เนรเทศชวีเยวี๋ยนออกไปจากเมืองหลวง
ต่อมาท่านได้ข่าวแคว้นฉู่แพ้สงคราม เสียใจมากจึงโดดแม่น้ำ มี่หลัว (汨罗江)เสียชีวิต
ชาวบ้านที่เคารพรักท่านเมื่อได้ข่าวก็รีบพากันพายเรือมาเพื่องมศพ พร้อมกับโยนอาหาร ข้าวปั้นลงไปในน้ำเพื่อไม่ให้พวกปลามากัดกินศพของท่าน
ต่อมาการเอาเรือออกไปงมหาศพ ก็ได้กลายมาเป็นประเพณีแข่งเรือมังกร
การเอาอาหาร ข้าวปั้น โยนลงน้ำ ก็กลายมาเป็นประเพณีทำขนมบ๊ะจ่าง
ปัจจุบัน การแข่งเรือมังกร ได้แพร่หลายไปในหลายๆ ประเทศ กลายมาเป็นกิจกรรมแข่งขันและออกกำลังกาย
ในเมืองไทยก็มีกิจกรรมที่คล้ายกัน คือ การแข่งเรือยาว
เนื่องจากท่านชีเยวี๋ยนเป็นนักกวี ที่เขียนบทกวีรักชาติไว้มากมาย วันที่ท่านเสียชีวิต จึงได้รับการตั้งให้เป็น 诗人节 วันนักกวี เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ท่านด้วย
...
คำศัพท์ภาษาจีนที่เกี่ยวข้อง
端午节 duān wǔ jié วันเทศกาลตวนหวู่
诗人节 Shīrén jié วันนักกวี
粽子 zòngzi ขนมบ๊ะจ่าง
赛龙舟 sài lóngzhōu แข่งเรือมังกร
屈原 Qū Yuán ชวีเยวี๋ยน
楚国 Chǔ guó แคว้นฉู่
秦国 Qín guó แคว้นฉิน
战国 Zhànguó ยุคสงคราม "จั้นกว๋อ"
....
ความรู้เรื่องนี้ ใช้เป็นแนวข้อสอบของ HSK ในหมวดสอบอ่าน
ส่วนในข้อสอบ PAT จีนจะเป็นแนวให้จำว่าตรงกับวันอะไร เกี่ยวข้องกับใคร อาหารประจำเทศกาลคืออะไร มีกิจกรรมอะไร ฯลฯ
แนวข้อสอบ PAT จีน เกี่ยวกับความรู้เรื่องวันตวนหวู่
วัฒนธรรมจีนเรื่องเทศกาลตวนหวู่ (วันขนมบ๊ะจ่าง) เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งที่ข้อสอบ PAT7.4 (วิชาความถนัดภาษาจีน) ออกสอบบ่อย และเพิ่งออกสอบอีกในรอบ 1/60
ลองดูตัวอย่างที่เคยออกสอบ
อาณาจักรแคว้นฉู่โบราณ ปัจจุบันก็คือแถบหูหนาน หูเป่ยทั้งมณฑล ฉงชิ่ง ซั่งไห่ เจ้อเจียง เจียงซู อันฮุย กุ้ยโจว เจียงซี ซันตุง
ถือว่าเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของประเทศจีน
เนื่องจากความอุมดมสมบูรณ์จึงเป็นพื้นที่ทำสงครามแย่งชิงกันทุกยุคสมัย (ต่อมาดินแดนแถบนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของยุค สามก๊ก)
河南、湖北、重庆、上海、浙江、江苏、安徽、贵州、江西、山东。
ภาพแผ่นที่แคว้นฉู่ในสมัยจั้นกว๋อ เมื่อสองพันกว่าปีก่อน (ก่อนคริสตศักราช 260 ปี)
ขอบคุณภาพแผนที่จาก
https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=11909076