เรื่องนี้้ ผู้เขียน(เหล่าซือสุวรรณา) โพสต์ครั้งแรกที่ โอเคเนชั่นบล็อก เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2554 (2011)
ชื่อเรื่องเดิม
เกร็ดวัฒนธรรมจีน วันสารทจีน 中元节
วัฒนธรรมใหม่เกี่ยวกับวันสารทจีนที่แตกต่างจากสมัยก่อน
.............................
- วันสารทจีน อวยพรด้วยคำว่า 中元节快乐。ได้หรือไม่ ?
- ทำไมถึงมีพิธีเทกระจาดในช่วงเทศกาลสารทจีน ?
- ทำไมวันสารทจีน จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า 鬼节 ( เทศกาลผี ) หรือ "วันปล่อยผี" ?
- เป็นเทศกาลสำคัญของชาวจีนทั่วประเทศหรือไม่ ? ทำไมที่จีนไม่ใช่วันหยุดราชการ ?
- คนหนุ่มสาวในจีนปัจจุบัน ยังคงรักษาประเพณีไหว้บรรพชนหรือไม่ ?
* ลองหาคำตอบจากบทความนี้ของเหล่าซือสุวรรณาค่ะ
...............................................
วันที่ 14 สิงหาคม 2011 ที่ผ่านมา เป็นวันสารทจีน ที่ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติจีน วันสาร์ทจีนปีนี้จึงอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับวันแม่แห่งชาติพอดี
วันสารทจีน ภาษาจีนเรียกว่า 中元节 ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า 七月半 และมีอีกชื่อหนึ่งที่ไม่ค่อยน่าฟังก็คือ 鬼节 ( เทศกาลผี ) ซึ่งเชื่อว่าเป็นวันที่ยมบาลเปิดประตูยมโลกอนุญาตให้ดวงวิญญาณต่างๆ ออกมาได้
วันสารทจีน เป็นเทศกาลแห่งการรำลึกถึงบรรพชนผู้ล่วงลับและแผ่เมตตาแผ่บุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณไม่มีญาติ จึงมีพิธีเทกระจาดในช่วงนี้ด้วย
ประเพณีโบราณของจีนเกี่ยวกับวันสารทจีนนั้น เป็นประเพณีของชาวจีนตอนใต้ เช่น ชาวจีนในมณฑลกวางตุ้ง คุนหมิง ฝูเจี้ยน กวางสี ฯลฯ ในบางท้องถิ่นของไต้หวัน มีการลอยกระทง บางท้องถิ่นในมณฑลกวางสี ประชาชนจะไม่นิยมออกนอกบ้านในวันสารทจีน เพราะเชื่อว่าเป็นวัน " ปล่อยผี " นั่นเอง
ที่น่าสนใจคือ แม้ชาวจีนทางใต้ของจีนจะให้ความสำคัญกับวันสารทจีนมาก แต่ชาวจีนทางเหนือของจีนไม่ถือวันนี้เป็นวันสำคัญ บางคนไม่รู้จักเทศกาลนี้ด้วยซ้ำ
วันสารทจีน ศาสนาพุทธจะให้ความสำคัญกับการแผ่บุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับและดวงวิญญาณที่ไม่มีญาติ ส่วนลัทธิเต๋าจะเน้นเรื่องกตัญญููต่อบรรพชน
สำหรับชาวจีนแต้จิ๋ว วันสารทจีน เป็นเทศกาลสำคัญอันดับ 2 รองจากวันตรุษจีน
ส่วนชาวจีนกวางตุ้งจะให้ความสำคัญกับเทศกาลไหว้พระจันทร์มากกว่าวันสารทจีน
วันไหว้พระจันทร์เป็นวันหยุดราชการของประเทศจีนและฮ่องกงด้วย
คนไทยเชื้อสายจีนและลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศต่างๆจำนวนมาก ยังคงยึดมั่นกับประเพณีไหว้บรรพชนอยู่ ถึงแม้ว่าพิธีการและของเซ่นไหว้จะมีการประยุกต์ให้เรียบง่ายเหมาะกับสภาพไปมากแล้วก็ตาม ส่วนมากไหว้แล้วก็ขอพรต่างๆ เช่น ขอให้คุ้มครอง ขอให้ลูกหลานร่ำรวย ขอให้ถูกหวย ขอให้ทำมาค้าขึ้น ขอให้แข็งแรง ขอให้สอบได้ ฯลฯ
แต่ลูกหลานจำนวนหนึ่งอาจจะไม่ได้หวังหรือเชื่อเรื่องอิทธิฤทธิ์มากนัก อยากไหว้เนื่องจากระลึกถึงพ่อแม่ปู่ย่าตายายมากกว่า ไม่รู้แน่ชัดว่าสิ่งที่ไหว้ สิ่งที่เผาไปให้นั้น พ่อแม่จะได้รับจริงหรือเปล่า แต่อย่างน้อยรู้สึกว่าอยากจะทำ อยากให้เขารู้ว่าลูกไม่ลืมที่มาของตนเองและผู้เลี้ยงดูอบรมสั่งสอนจนมีวันนี้ ถ้าพวกเขารับรู้ได้ ก็อยากให้รู้ว่าลูกยังคิดถึงตลอดเวลา อยากให้พวกเขากลับมาหา อยากจะรู้ว่าพวกเขาอยู่ในภพอื่นมีความสุขดีหรือไม่ ต้องการให้ลูกทำอะไรให้เขาบ้างไหม อธิฐานขอให้มาเข้าฝันบอกหน่อยก็ยังดี
ในวันสารทจีนทุกๆ ปี ชาวไทยเชื้อสายจีนจะมีการเซ่นไหว้บรรพชนด้วยอาหารต่างๆ ที่พวกเขาชอบ ( แต่ปัจจุบันก็ได้ประยุกต์เป็นไหว้ด้วยอาหารที่ตนเองและลูกๆ ชอบ ให้อากงอาม่าต้องชอบด้วย ) และมีการเผากระดาษเงินกระดาษทอง โดยเชื่อว่าจะสามารถส่งเงินทองไปให้กับผู้ที่อยู่อีกภพหนึ่งได้ใช้ ชาวจีนสมัยก่อนเชื่อว่าถ้าลูกหลานทานอาหารที่เซ่นไหว้แล้ว จะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
แต่ว่า ในขณะที่คนไทยเชื้อสายจีน รวมถึงลูกหลานจีนในประเทศต่างๆ ยังคงรักษาประเพณีการไหว้บรรพชนนี้อยู่ คนหนุ่มสาวในประเทศจีนจำนวนหนึ่งได้หันไปสร้างเว็บไซต์และไหว้ผ่านเน็ตกันแล้ว โดยไปสร้างภาพสุสาน ใส่รูปบรรพชน สร้างรูปของเซ่นไหว้ รวมถึงการเขียนข้อความอาลัยต่างๆ ลงในเว็ป แทนที่จะมีการไหว้กันจริงๆ เช่น เขียนว่า .... คุณพ่อ วันนี้ เรามาเยี่ยมท่านแล้วนะ ......
ในฮ่องกง การเผากระดาษเงินกระดาษทองกำลังจะหมดไป เนื่องจากทางการฮ่องกงได้ออกกฎห้ามเผากระดาษในที่พักซึ่งส่วนใหญ่เป็นแฟลตหรือคอนโด ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมลพิษและทำให้โลกร้อน รวมถึงอาจจะก่อให้เกิดอัคคีภัยได้ด้วย
สุวรรณา สนเที่ยง
..............
เกร็ดวัฒนธรรมจีน
หมายเหตุ รูปที่นำมาลงประกอบนี้ เป็นรูปที่ถ่ายไว้ตอนตรุษจีน
( ข้อเขียนทั้งหมดนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของสุวรรณา สนเที่ยง ท่านใดต้องการนำไปเผยแพร่ต่อ หรือคัดลอกตอนใดตอนหนึ่ง ขอความกรุณาระบุที่มาและได้รับอนุญาตจากผู้เขียนก่อน ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามหลักจรรยาบรรณและบรรทัดฐานร่วมกัน )
โพสต์ครั้งแรก ที่
http://www.oknation.net/blog/chineseclub/2011/08/15/entry-1
โพสต์ครั้งแรก ที่
http://www.oknation.net/blog/chineseclub/2011/08/15/entry-1
วันจันทร์ ที่ 15 สิงหาคม 2554
Posted by เหล่าซือสุวรรณา๑๑๑๑๑ เกร็ดภาษาจีน (คลิกที่นี่) หวังว่าจะเป็นประโยชน์ ขออภัยในข้อบกพร่องใดๆ ขอขอบคุณทุกความคิดเห็น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น