หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556

ภาษาไทยกับภาษาจีน มีอะไรที่เหมือนกันหรือไม่ ?

ภาษาไทยกับภาษาจีน มีอะไรที่เหมือนกันหรือไม่ ?

ภาษาไทยกับภาษาจีน มีอะไรที่แตกต่างกัน ?

          การเข้าใจเรื่องนี้  มีความสำคัญสำหรับคนเรียนภาษาจีนอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นตัวช่วยให้ผู้เรียนมีจิตนาการ  มีหลักในการจำคำศัพท์  การออกเสียง การเรียงประโยค และการใช้ได้ดีกว่าคนที่ไม่เข้าใจหลักพื้นฐานนี้

          ความจริง ภาษาไทยเป็นภาษาที่อยู่ในตระกูลฮั่น - ธิเบต ซึ่งเป็นกิ่งภาษาและมีรากมาจากภาษาจีน - ธิเบต  แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้  คุณครูสอนภาษาจีนบางท่านอาจไม่ได้สังเกต  และครูชาวจีนที่มาสอนเด็กไทย  ก็รู้ภาษาไทยไม่ลึกมาก  ไม่สามารถเปรียบเทียบให้เด็กไทยเห็นภาพได้

          ภาษาไทยเป็นภาษาที่คล้ายภาษาจีนมากที่สุดในโลก อันนี้ผู้เขียนไม่ได้พูดเอง แต่มีผลการวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาของจีนสรุปออกมาว่า ภาษาที่คล้ายภาษาจีนมากที่สุดในโลก คือ ภาษาไทย

          เป็นไงคะ ไม่น่าเชื่อหรือเปล่า เพราะเราดูหน้าตาภาษาจีนกับภาษาไทย ไม่เหมือนกันเลย

          เอาเป็นว่า จะค่อยๆ มาอธิบายทีละหน่อย วันนี้จะพูดถึงแค่บางส่วนก่อนเพื่อให้เห็นภาพ

          ลักษณะพิเศษของภาษาตระกูลฮั่น - ธิเบต (汉藏语系)

          1.  เป็นคำโดด
               สร้างคำศัพท์จากการนำคำโดดมาประสมกัน เช่น คำว่า รถ ประสมกับ ไฟ เป็น รถไฟ
               ภาษาจีน นำคำว่า  火 ประสมกับ 车 เป็น 火车 แปลว่ารถไฟ ( ซึ่งภาษาอังกฤษจะไม่ได้สร้างคำจากวิธีการนี้ เช่น คำว่า train )

          2.  มีเสียงวรรณยุกต์ (有声调)

          3.  หลักไวยากรณ์หลักคือการเรียงลำดับคำ  เมื่อเรียงลำดับคำต่างกัน ความหมายก็เปลี่ยน เช่น  妈妈骂马   马骂妈妈

               妈妈骂马 (แม่ด่าม้า)  马骂妈妈 (ม้าด่าแม่)

          4.  รูปประโยคหลักๆ คือ ประธาน + กริยา + กรรม

          5.  ภาษาจีนไม่ต้องเปลี่ยนรูปกริยาตามกาล ไม่ต้องมีกริยา 3 ช่อง  ไม่แบ่งนามนับได้นับไม่ได้ ฯลฯ
          .............
          ดิฉันถือว่า  การจะศึกษาเปรียบเทียบเจาะลึกสิ่งที่เหมือนกันกับสิ่งที่ต่างกันระหว่างภาษาไทย - จีน  จึงถือเป็นภารกิจของคนสอนภาษาจีน  เพราะอาจารย์ชาวจีนไม่สามารถมาสอนเราในจุดนี้ได้  เนื่องจากท่านไม่รู้ภาษาไทย  ส่วนครูจีนที่มาสอนลูกหลานเราอยู่ ส่วนมากจะรู้ภาษาไทยในระดับที่พอสื่อสารในชีวิตประจำวันได้

          จากประสบการณ์การทำงานด้านการแปลและการสอนมาเกินครึ่งชีวิต  ผู้เขียนพยายามจะสังเกต  เจาะลึกและรวบรวมอะไรที่เกี่ยวข้องกับการเปรียบเทียบภาษาไทย - จีน  รวมถึงพยายามถ่ายทอดแนวคิดนี้ให้กับผู้เรียนเพื่อเป็นแนวทางให้พวกเขาสามารถใช้ค้นคว้าต่อได้

          ภาษาไทย - จีนส่วนที่คล้ายกันนั้น  มีอยู่จำนวนมาก  มีการทำเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาโทหลายเรื่องทีเดียว  ไม่สามารถเขียนให้ครบหรือเข้าถึงรายละเอียดได้ในเอนทรี่สั้นๆ

          ในที่นี้  จึงต้องการยกตัวอย่างให้คนไทยที่เรียนภาษาจีนเข้าใจพอสังเขป เพื่อนำไปเป็นแนวจิตนาการหรือเป็นข้อสังเกตในการเรียนต่อไปเท่านั้น      

           อย่างเช่น ภาษาไทยเราได้นำเอาสำนวนจีน ภาษิตจีน คำพังเพยจีน อุปมาฯ มาใช้ในชีวิตประจำวันจำนวนไม่น้อย  ถ้าเราเข้าใจจุดนี้  เราก็จะสามารถนำไปใช้ประกอบการพูด  การเขียนของเราได้อย่างเหมาะสม  ทำให้การใช้ภาษาของเราสละสลวยและดูเป็นคนมีความรู้ทั้งสองภาษา  ที่สำคัญจะต้องแยกให้ได้ว่า คำไหนใช้เชิงบวก คำไหนใช้เชิงลบ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด  

          ภาษิต - คำพังเพยจีน ส่วนมากเกิดขึ้นและมีการใช้มานานกว่าพันหรือสองพันปีแล้ว  บางคำมาจากคำพูดของนักปราชญ์จีนต่างๆ เช่น คำสอนของขงจื่อ เม่งจื่อ คำพูดของขงเบ้ง ของเล่าปี่ ฯลฯ  ขอยกตัวอย่างพอสังเขป เช่น

           如鱼得水              ดุจปลาได้น้ำ  เป็นคำที่มาจากเรื่อง สามก๊ก  ตอนที่ เล่าปี่ ได้ ขงเบ้ง มาช่วย

          不见棺材不掉泪    ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา

          知人知面不知心     รู้คนรู้หน้าไม่รู้ใจ

          百闻不如一见        ฟังร้อยครั้งไม่เท่ากับเห็นกับตาหนึ่งครั้ง  ภาษาไทยใช้ว่า สิบปากพูดไม่เท่าหนึ่งตาเห็น

          活到老,学到老。 ภาษาไทยใช้ว่า ไม่มีใครแก่เกินเรียน

          路遥知马力,日久见人心。ระยะทางไกลทำให้รู้กำลังของม้า  กาลเวลาทำให้เห็นจิตใจของคน
                                       ภาษาไทยใช้ว่า ระยะทางพิสูจน์ม้า  กาลเวลาพิสูจน์คน

..................................

         มีคำบางคำที่ไม่ได้ยืมมาจากภาษาจีนโดยตรง แต่มีความหมายคล้ายกัน เช่น

         近朱者赤、近墨者黑。jìn zhū zhě chì,jìn mò zhě hēi   คนใกล้หมึกดำ  คนใกล้ชาดแดง
         ( คำแปลภาษาไทย 2 วลีนี้ผู้เขียนบัญญัติคำขึ้นมาเอง   ตรวจสอบดูแล้วยังไม่มีท่านใดแปลไว้อย่างนี้  มีแต่ใช้คำอื่นที่มีความหมายคล้ายกัน )

          คนที่อยู่ใกล้หมึกจะเปื้อนสีดำ  คนที่อยู่ใกล้  朱砂 (ชาด) ซึ่งเป็นวัตุสีแดง ก็จะติดสีแดงมาด้วย  
          ภาษิตไทยใช้คำว่า “ คบคนพาลพาลพาไปหาผิด  คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล ”
  .........................

         ยังมีบางคำที่ฟังดูคล้ายกัน แต่การใช้ต่างกัน เช่น    

         入乡随俗  แปลว่า ไปถึงที่ไหนให้เคารพ ปฏิบัติตามธรรมเนียมของที่นั้นๆ  ในภาษาจีนใช้คำนี้ในเชิงบวก หมายถึง ถ้าไปอยู่ที่ไหน  ให้เคารพวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น เช่น เวลาทานอาหารกับชาวจีน ไม่ควรเลียอาหารที่อยู่บนนิ้วมือ  ไม่เอาตะเกียบปักบนชามข้าว ฯลฯ

         พังเพยไทยมีคำว่า "เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม"  แต่คำไทยคำนี้ ดิฉันเข้าใจว่า ไม่ได้ใช้ในเชิงบวก  หมายถึงทำตามๆ กันไป อย่าไปทำอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น  ซึ่งรวมถึงเรื่องที่อาจจะไม่ดีด้วย
..............................

          นอกจากนี้ คำพังเพยจีนบางคำที่ในอดีต ใช้ในความหมายหนึ่ง แต่ปัจจุบันมีใช้ในความหมายที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งเวลาจะนำไปใช้ ต้องระมัดระวัง  เช่น คำว่า

          对牛弹琴 ตีขิมให้วัวฟัง
          เมื่อก่อนใช้เป็นคำอุปมาว่า วัวโง่  ฟังเพลงเพราะๆ ไม่เข้าใจหรอก
          แต่ปัจจุบันมีการใช้คำนี้ว่าคนดีดขิมโง่  ไปดีดให้วัวฟังแล้วจะได้ประโยชน์อะไร ในเมื่อก็รู้อยู่แล้วว่ามันฟังไม่รู้เรื่อง (กลายเป็นอย่างนั้น) ใช้อุปมาว่าใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องในการทำอะไรบางอย่าง
          ภาษาไทยมีการใช้คำคล้ายๆ กัน คือ สีซอให้ควายฟัง 
................................

เพิ่มเติม

ยังมีคำศัพท์ที่ออกเสียงคล้ายภาษาไทยอีกจำนวนมากด้วย  ตัวเย่าง  เช่น

广   ภาษาจีน ออกเสียงว่า กว่าง   แปลเป็นภาษาไทย ก็คือ กว้าง

变   ภาษาจีน ออกเสียงว่า เปี้ยน   แปลเป็นภาษาไทย ก็คือ เปลี่ยน

นอกจากการสร้างคำแล้ว ภาษาจีนกับภาษาไทยยังมีการสร้างวลี ประโยค ฯ ที่คล้ายกันมาก เช่น  ประโยคภาษาจีน 谁说我不知道?ภาษาไทยก็แปลว่า  ใครบอกว่าฉันไม่รู้   ซึ่งเป็นประโยคคำถามสื่อความหมายเชิงยืนยัน "ฉันรู้นะ"
...................................
           ส่วนตัวผู้เขียนเชื่ออย่างยิ่งว่า การศึกษาภาษาจีน - ไทยเปรียบเทียบ จะทำให้สนุก น่าเรียน มีประโยชน์ต่อการเรียนภาษาจีนของคนไทยอย่างแท้จริง และจะได้ประโยชน์กว่าการฝึกท่องประโยคแบบที่คนไทยกำลังเรียนกันอยู่ในปัจจุบัน  
           ซึ่งผู้เขียนก็จะมุ่งมั่นศึกษาเจาะลึกการเปรียบเทียบสองภาษานี้ต่อไป
 ..................................

 ( ท่านใดต้องการนำข้อเขียนนี้ไปใช้หรือเผยแพร่ต่อ  กรุณาติดต่อผู้เขียนก่อน ให้เครดิตแหล่งที่มา เพื่อรักษามาตรฐานร่วมกันและรักษาคุณธรรมในหมู่คนเรียนคนสอนภาษาจีน )

  

หมายเหตุ  ข้อเขียนนี้ดิฉันเคยเผยแพร่ในเว็บบล็อกของ โอเคเนชั่นบล็อก เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2013
http://www.oknation.net/blog/chineseclub/2012/09/04/entry-1


Posted by เหล่าซือสุวรรณา , ผู้อ่าน : 5372   

 หลังจากที่โพสต์ไปประมาณ 5 ชั่วโมง  ท่านที่ใช้นามปากกาว่า  วีฟัด  ได้ให้เกียรติขออนุญาตแชร์ข้อความนี้ในเว็บไซต์ของชุมชนชาวฮากกา  เนื่องจากท่านให้เกียรติดิฉันในฐานะลูกหลนชาวฮากกาค่ะ

         โดย คุณวีฟัด  ได้กรุณาระบุที่มา ชื่อผู้เขียน เว็บไซต์ วัน - เวลาในการโพสต์เรื่องต้นฉบับ ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน




เรียนภาษาจีนในไทย ติดต่อเราที่ http://www.futurec-cn.com/












อ่านเรื่องเกร็ดภาษาจีน  
หวังว่าทุกคลิกของท่านจะได้รับประโยชน์จากบทความเหล่านี้ ขออภัยในข้อบกพร่องใดๆ และขอความกรุณาช่วยชี้แนะด้วยค่ะ Flag Counter

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น